ทะเลสาบกรีนแลนด์กำลังวิกฤต จากสีฟ้าสวยกลายเป็นน้ำตาลขุ่น!

“กรีนแลนด์” ประเทศที่มีแหล่งธรรมชาติสวยงามอันดับต้น ๆ ของโลก กำลังเจอกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ทะเลสาบสีฟ้าใสที่สวยงาม แปลงสภาพเป็นสีน้ำตาล บ่งบอกถึงคุณภาพน้ำที่แย่ลง

ทีมนักวิจัยนำโดยนักวิชาการด้านอาร์กติก และรองผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยเมน “จัสมิน ซารอส” ค้นพบว่าการรวมตัวของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ “ทะเลสาบในอาร์กติกเกิดจุดเปลี่ยน”

กรีนแลนด์ประเทศที่เป็นสัญลักษณ์ความสวยงามของเขตอาร์กติก มีธรรมชาติสวยงามที่ผสมผสานความยิ่งใหญ่ของธารน้ำแข็ง ฟยอร์ด ภูเขาหิน และทะเลสาบสีฟ้าใส รวมไปถึงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์แบบ แต่ปัจจุบันกลับพบการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล เนื่องจากทะเลสาบสีฟ้าใสในกรีนแลนด์กลับเปลี่ยนสภาพเป็นสีน้ำตาลขุ่นหลายแห่ง (ประมาณ 75,000 แห่ง) 

การเปลี่ยนแปลงนี้นักวิจัยคาดว่าเกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้กรีนด์แลนด์เกิดฝนตกหนักอยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนอินทรีย์และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เหล็ก แมกนีเซียม และคาร์บอน ละลายตัวอย่างรวดเร็ว

เมื่อเกิดฝนตกหนักแร่ธาตุที่หลุดออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งจะถูกชะล้างไปในทะเลสาบของกรีนแลนด์ จึงทำให้ทะเลสาบสีฟ้าใสกลายเป็นสีน้ำตาลขุ่นที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทะเลสาบในกรีนด์แลนด์กลายเป็นสีน้ำตาลทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ลดลงไปถึง 90% ปริมาณสาหร่ายมีมากขึ้น และการสังเคราะห์แสงของพืชใต้น้ำลดลง รวมไปถึงธาตุเหล็กที่ละลายลงทะเลสาบถึง 1,000% ทำให้ทะเลสาบที่อดีตเคยเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แทนแล้ว

ทางทีมวิจัยซารอส ได้กล่าวว่า “ขนาดและอัตราการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ในตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าทะเลสาบจะกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอากาศแห้งแล้งในภูมิภาคนี้ หากอากาศในภูมิภาคนี้แห้งแล้งติดต่อกันหลายปีอาจช่วยวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ แต่ทะเลสาบคงไม่กลับมาเป็นสีฟ้าใสเร็ว ๆ นี้

ที่มา

environman

phys.org

springnews.co.th