6 แนวทางในการลด PM2.5 ในปี 2568 ที่จะถึงนี้

6 แนวทางในการลด PM2.5 ในปี 2568 ที่จะถึงนี้

ในปี 2567 นี้สถานการณ์ของ PM2.5 ยังคงเป็นที่น่ากังวลและน่าจับตามอง โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทางรัฐบาลจึงได้วางมาตรการในการรับมือไว้อยู่ 6 แนวทางในการจัดการมลพิษทางอากาศในปี 2568 ที่จะถึงนี้

ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในทุก ๆ ปี ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน จากข้อมูลของ IQAir air quality index พบว่า กรุงเทพมหานครมีความเข้มข้นของ PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีของ WHO ถึง 3.2 เท่า

ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จึงจัดประชุม “การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่  ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และการเตรีมการรับมือในปี 2568” ณ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) อาคารกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

และทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีการจัดทำ “มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568” โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการฯ และกลไกการบริหารจัดการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหารจัดการ 3 ระดับได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาคหรือข้ามเขตป่าหรือเขตปกครอง และระดับจังหวัด

6 แนวทางในการลด PM2.5 ในปี 2568

1.ระยะเตรียมการ: จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเสี่ยงเผาและข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด

2. การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ: โดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐ และมุ่งเน้นการเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

3. การจัดการในพื้นที่เกษตร: โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ให้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์ กับเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา

4. การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง: ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังคับใช้กฎหมายโรงงานและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุม ผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง

5.การจัดการหมอกควันข้ามแดน: ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟ ในประเทศเพื่อนบ้าน

6.การบริหารจัดการภาพรวม: จะเร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต

จากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็หวังว่าในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ปริมาณ PM2.5 จะลดลงและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในระยะยาว และหากอยากติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สามารถติดตามได้จากแอปพลิเคชั่น Air4Thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) 

ที่มา

springnews.co.th

bangkokbiznews.com

iqair.com