เร่งเดินหน้า “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” กรุงเทพฯ ตั้งเป้า 437 โรงเรียนภายในปี 68
เร่งดำเนินโครงการ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เติมอากาศดีลบอากาศเสีย เพื่อปกป้องเด็กจาก PM2.5 กรุงเทพฯ ตั้งเป้าปรับปรุง 437 โรงเรียนภายในปี 2568
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” ที่ได้ร่วมมือกับ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ปกป้องเด็กนักเรียนจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ในปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดที่เข้าร่วมแล้ว 32 โรงเรียน และตั้งเป้าว่าจะขยายให้ครบ 437 โรงเรียน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมจะได้รับเครื่องวัดคุณภาพอากาศเพื่อนำไปติดตั้งภายในห้องเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 405 ชุด
จากเป้าหมายทั้งหมด 405 ชุด ปัจจุบันได้ส่งมอบเครื่องวัดคุณภาพให้กับโรงเรียนในสังกัดแล้ว 382 ชุด นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าพัฒนาห้องเรียนปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) ให้กับเด็กอนุบาล จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 429 แห่ง โดยมีห้องเรียนรวมทั้งสิ้น 1,996 ห้อง โดยจะดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนใน 6 กลุ่มเขต (กรุงเทพกลาง กรุงเทพเหนือ กรุงเทพใต้ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้) จากจำนวนที่ต้องปรับปรุงทั้งหมด 1,996 ห้อง จะแบ่งออกเป็น
1.ห้องเรียนเดิมที่มีแอร์ จำนวน 696 ห้อง
2.ห้อง CSR (ห้อง+แอร์) จำนวน 48 ห้อง
3.ห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักงานเขต จำนวน 227 ห้อง
4.ห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักงานการศึกษา จำนวน 995 ห้อง
แนวทางในการดำเนินการของแต่ละห้องเรียนที่จะเปลี่ยนจากระบบเปิดให้เป็นระบบปิด มีขนาดห้องเรียนอยู่ 2 ขนาด นั้นก็คือขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่น้อยกว่า 35 ตร.ม. และห้องเรียนที่มีขนากมากกว่า 35 ตร.ม. โดยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแขวน ระบบ Inverter พร้อมกับพัดลมระบายอากาศ เดินระบบ Main Breaker ภายในห้องติดตั้งเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์
แน่นอนว่าการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ย่อมต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทางโฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้พูดถึงปัญหาของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นว่า จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในโรงเรียน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองอัจฉริยะและร่วมพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกับรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ที่มา