พะยูนจากฝั่งอันดามันถูกพรากชีวิตถึง 8 ตัว ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้

พะยูนจากฝั่งอันดามันถูกพรากชีวิตถึง 8 ตัว   ในเดือนตุลาคม      ที่ผ่านมานี้

ตุลาคมที่ผ่านมานี้ถือเป็นเดือนที่มีการสูญเสียพะยูนจากฝั่งอันดามันสูงถึง 8 ตัว สาเหตุของการเสียชีวิตที่สามารถระบุได้นั้นเกิดจากเชือกที่รัดลำตัว และอาการป่วยที่คาดว่าเกิดจากสภาวะการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล

 

ในเดือนตุลาคม (1-24 ตุลาคม 2567) ที่ผ่านมานี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้รับแจ้งเหตุการเกยตื้นของพะยูน จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว โดยแบ่งเป็นเกยตื้นที่มีชีวิตจำนวน 1 ตัว ซึ่งก็เสียชีวิตในวันต่อมา และซากเกยตื้นจำนวน 7 ตัว ประกอบไปด้วย

       -ซากสด 1 ตัว

       -ซากเน่า 6 ตัว

 

โดยจังหวัดที่พบการเกยตื้น ได้แก่ ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ 4 ตัวและเพศเมีย 4 ตัว พะยูนส่วนใหญ่ที่ตายนั้นจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น (5 ตัว) และตัวเต็มวัย (3ตัว) 

 

สาเหตุของการเกยตื้นของพะยูนนั้นไม่สามารถระบุสาเหตุการตายจำนวน 4 ตัว เนื่องจากอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก  เกิดจากอาการป่วย จำนวน 3 ตัว และสงสัยติดเครื่องมือประมง 1 ตัว เนื่องจากมีรอยเชือกรัดบริเวณลำตัว ในพะยูนที่เกยตื้นจากอาการป่วย พบว่าร่างกายผอม ไม่พบอาหารในทางเดินอาหารหรือพบเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะมีผลมาจากสภาวะการเสื่อมโทรมของหญ้าในทะเล

 

ทั้งนี้ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทช. ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งดำเนินการส่งนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่เฝ้าระวังและสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของจำนวนประชากรและการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและกำหนดแนวทาง มาตรการ ในการอนุรักษ์และดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก และขอความร่วมมือเรือนำเที่ยวและเรือประมงในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเล หากใครพบเห็นสัตว์ทะเลหายากสามารถติดต่อสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362

 

ที่มา

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง