ผิดคาด! ตัวการหลักที่ทำให้เกิด PM2.5 ไม่ใช่การเผาหรือควันรถ แต่เป็นปุ๋ย!

ผิดคาด! ตัวการหลักที่ทำให้เกิด PM2.5 ไม่ใช่การเผาหรือควันรถ แต่เป็นปุ๋ย!

ทุกวันนี้หายใจเข้าออกก็ไม่ใช่เธอแล้ว เพราะมีแต่ฝุ่น PM2.5 อยู่เต็มทุกลมหายใจ ทุกวันนี้ PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่ทุกคนเผชิญทุกวัน ต้นตอหลักของ PM2.5 หลายคนอาจจะนึกถึงการเผา และควันรถ แต่ความจริงใหม่ได้เปิดเผยแล้วว่า “ปุ๋ย” ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด PM2.5 เช่นกัน

ปัจจุบันอากาศสดใสในยามเช้าได้ถูกแทนที่ด้วยฝุ่น PM2.5 ที่เราเผชิญในทุกวัน เมื่อนึกถึงต้นตอหลักของการเกิด ฝุ่น PM2.5 ความเชื่อเดิมของใครหลายคนคงจะเป็น “การเผา” หรือ “ควันรถ” บนท้องถนน แต่การศึกษาใหม่กลับพบว่ายังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และเป็นตัวการสำคัญนั้นก็คือ “ปุ๋ย”

การศึกษาใหม่จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) พบว่า การเผาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยมี “ละอองลอยทุติยภูมิ” (Secondary Organic Aerosol) หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปล่อยออกมาทำปฏิกิริยาเคมีกับก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศ เป็นตัวการหลัก โดยเฉพาะไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) จากปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้ในการเกษตร

ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการของ NARIT ได้เปิดเผยว่า ในการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้เทคนิค “Mass spectrometry” ผ่านเครื่องมือที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการศึกษาสเปกตรัมของดวงดาว เรียกว่า Aerosol Chemical Speciation Monitor (ACSM) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการหาองค์ประกอบของฝุ่นได้อย่างแม่นยำ 

การศึกษานี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีฝุ่น PM2.5 หนาแน่น จึงนำเครื่อง ACSM มาบินเหนือเชียงใหม่เพื่อเก็บฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ในบรรดาสารประกอบอินทรีย์ 58% เมื่อแยกย่อยแล้วพบว่า สารที่เกิดจากการเผาชีวมวล (BOAA) เพียง 23% และสารที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงแค่ 11% นอกเหนือจากนี้ทั้งหมดอีก 66% คือ “ละอองลอยทุติยภูมิ” 

จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ตัวการหลักของ PM2.5 ก็คือ ละอองลอยทุติยภูมิโดยเฉพาะไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) จากปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้ในการเกษตร ซึ่งทาง ดร.วิภู รุโจปการ ได้กล่าวว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในไทยสูงมาก ติดอันดับต้น ๆ ของโลกเลย จึงทำให้เกิดละอองลอยทุติยภูมิจำนวนมหาศาล จนกลายเป็นตัวการหลักของ PM2.5 ในปัจจุบัน โดยการศึกษาของ NARIT ก็สอดรับกับการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2563 ที่มีการประเมินว่า แอมโมเนียเป็นสารตั้งต้นของ PM2.5 ทุติยภูมิจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน 

ปุ๋ยไนโตรเจนทำให้เกิด PM2.5 ได้อย่างไร?

ไนโตรเจนในปุ๋ย จะอยู่ในรูปแบบของแอมโมเนีย (NH3) และไนเตรต (NO3-) เมื่อปุ๋ยไนโตรเจนถูกใช้งาน ก๊าซNH3 และ NOX จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ก๊าซเหล่านี้ทำปฏิกิริยาสารประกอบอินทรีย์ระเหย (VOCs) และซัลเฟอร์ดออกไซด์ (SO2) ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดอนุภาค PM2.5 และจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงฤดูร้อน และแพร่กระจายได้ง่ายในสภาพอากาศแห้ง

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากปุ๋ยไนโตรเจน

เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลของ PM2.5 ทางภาครัฐควรมีการออกมาตรการลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในฤดูกาลที่มีฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก หรือรณรงค์ให้ทางภาคการเกษตรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นจากจากการใช้ปุ๋ยในระยะยาว

 

ที่มา

igreenstory.co

ประชาชาติธุรกิจ