แค่เล่นแอพฯ เท่ากับปล่อยคาร์บอนจริงหรือ?

เคยได้ยินกันไหมว่าหากเราเล่น “แอปพลิเคชัน (Application)” ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็สามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีส่วนทำให้เกิดโลกร้อนได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่การปล่อยคาร์บอนในการเล่นแอปพลิเคชัน คือการปล่อยแบบ “ทางอ้อม”

จากข่าว “การเล่น Tiktok สามารถปล่อยคาร์บอนมากกว่ากรีซทั้งประเทศ” หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า “แค่เล่น Tiktok จะปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นสามารถปล่อยได้จริง แต่คาร์บอนนั้นไม่ได้ถูกปล่อยออกมาจากการเล่นแอพพลิเคชั่นโดยตรง แต่จะปล่อยออกมาทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่มาจากการผลิตไฟฟ้า 

การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันก็ยังมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต เมื่อใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตนั้นก็จะต้องมีการเผาไหม้ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ 

แน่นอนว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ Tiktok เท่านั้น ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานเช่นกัน นอกจากการผลิตไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องแล้วยังมีแหล่งที่มาของการปล่อยคาร์บอนจากแอพพลิเคชั่นหลายแห่ง เช่น

  1. ศูนย์ข้อมูล (Data Centers) : แอพพลิเคชั่นต้องการเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผลข้อมูลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งศูนย์เก็บข้อมูลเหล่านี้ ต้องพลังงานอย่างมากในการประมวลผลและทำให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์เย็น ทำให้คาร์บอนในกระบวนการผลิตพลังงานนั้นถูกปล่อยออกมาจำนวนมาก
  2. การส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต: การส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ หรือ เครื่องบริการหลัก ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่แรงมาก นั่นก็เท่ากับว่าต้องใช้พลังงานมากเช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะลดการปล่อยคาร์บอนขณะใช้แอพพลิเคชัน?

สาเหตุหลักที่ทำให้คาร์บอนถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศขณะใช้แอพพลิเคชัน นั่นก็คือ “การใช้พลังงานไฟฟ้า” หรือการผลิตไฟฟ้านั่นเอง ยิ่งใช้แอพพลิเคชั่นมากเท่าไหร่ พลังงานที่ถูกดึงไปใช้ก็ยิ่งมากขึ้น ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ช่วยได้มากที่สุด ก็คือ “ใช้พลังงานหมุนเวียน” เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เป็นต้น 

นอกจากนี้การ หากลดการใช้แอพพลิเคชันที่ไม่จำเป็นลง ก็ถือว่าเป็นการช่วยลดพลังงานได้เป็นจำนวนมาก หากเราลดการใช้พลังงานไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลงแน่นอนว่านอกจากจะลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว เรายังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราไปได้นานอีกด้วย